ส่งบทความ
วารสารประตูยินดีรับบทความต้นฉบับและรายงานการวิจัยที่ดำเนินการอยู่ ในหัวข้อที่เกี่ยวข้องและอยู่ในขอบเขตความสนใจของวารสาร
ผู้สนใจสามารถส่งผลงานเป็นภาษาอังกฤษ หรือภาษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านการติดต่อเป็นภาษาอังกฤษ หรือภาษาอื่นที่สมาชิกในกองบรรณาธิการหรือบรรณาธิการรับเชิญเข้าใจ โดยผู้ส่งผลงานต้องระบุความยาวของผลงานเป็นจำนวนคำ (word count) ในอีเมลที่ส่งเข้ามา และผู้เขียนจะต้องยืนยันว่าผลงานดังกล่าวนี้ไม่เคยเผยแพร่ที่อื่นไม่ว่าจะในรูปแบบใด หรือกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาให้เผยแพร่กับที่อื่น (สามารถดูข้อยกเว้นในการเผยแพร่ผลงานกับที่อื่นได้ที่ สัญญาอนุญาตครีเอทีฟ คอมมอนส์)
บทความและรายงานการวิจัย
บทความที่ส่งถึงวารสารประตู จะได้รับการตรวจสอบโดยกรรมการผู้ประเมินภายนอก โดยปกติ บทความควรมีความยาวประมาณ ๕,๐๐๐-๗,๐๐๐ คำ (รวมเชิงอรรถ) และบทความควรเป็นผลงานต้นฉบับจากการวิจัย มีการวิเคราะห์เชิงวิพากษ์ต่อหัวข้อและวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง (ทางวารสารแนะนำให้ผู้เขียนทบทวนทั้งวรรณกรรมระดับภูมิภาคและนานาชาติ) และนำเสนอข้อคิดเห็นที่ชัดเจนสำหรับผู้อ่านในเชิงวิชาการ
สำหรับรายงาน ควรมีความยาวประมาณ ๑,๐๐๐-๒,๐๐๐ คำ (รวมเชิงอรรถ) โดยวารสารประตูมีความสนใจรายงานสรุปงานภาคสนามที่เพิ่งเสร็จสิ้นไปหรือยังดำเนินการอยู่โดยผู้เขียนรายงานเป็นอย่างยิ่ง เนื้อหาของรายงานสามารถเป็นรายงานการสำรวจและการขุดค้นทางโบราณคดี การสำรวจด้านประติมานวิทยา รวมถึงรายงานเกี่ยวกับวัตถุจากชุดของสะสมในพิพิธภัณฑ์ และวัตถุที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ งานภัณฑารักษ์ หรืองานนิทรรศการอื่นๆ ทั้งนี้ รายงานควรนำเสนอข้อมูลใหม่และเขียนข้อสรุปด้วยภาษาที่กระชับ โดยไม่มีการตีความเบื้องต้น หรือมีการการวิเคราะห์เชิงวิพากษ์รวมอยู่ในรายงาน
งานเขียนต้องส่งผ่านช่องทางอีเมลไปยังวารสารประตูที่ pratujournal@soas.ac.uk ในรูปแบบเอกสาร Microsoft Word และ PDF ทั้งสองรูปแบบ โดยเขียนกำกับว่า “บทความ/รายงานส่งวารสารประตู” หรือ “Pratu article/report submission” ในช่องหัวเรื่องของอีเมล
บทคัดย่อ
บทคัดย่อสั้นๆ (ไม่เกิน ๒๕๐ คำ) จะอยู่ตอนต้นของบทความหรือรายงานแต่ละฉบับ โดยผู้เขียนต้องเป็นฝ่ายเตรียมบทคัดย่อตามแต่ภาษาต้นฉบับของบทความ ซึ่งทางวารสารยินดีให้ผู้เขียนส่งบทคัดย่อฉบับแปลมาพร้อมบทคัดย่อในภาษาต้นฉบับด้วยเช่นกัน
สังกัดสถาบัน
ชื่อผู้เขียนควรปรากฏหลังชื่อเรื่อง ตามด้วยสังกัดสถาบันตามความเหมาะสม โดยผู้เขียนสามารถเลือกใช้ชื่อที่ผู้เขียนต้องการให้ปรากฏในบทความที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว ตามลำดับรูปแบบชื่อ ชื่อสกุล ชื่ออื่น และชื่อย่อตามที่ต้องการ โดยทางวารสารจะขอให้ผู้เขียนเป็นฝ่ายระบุว่าควรใช้ชื่อใดเมื่อผลงานถูกนำไปอ้างอิง
กิตติกรรมประกาศ
กิตติกรรมประกาศควรมีความกระชับ เขียนด้วยสรรพนามบุรุษที่ ๑ และปรากฏในส่วนเชิงอรรถแรกสุดโดยไม่มีตัวเลขกำกับ ยกตัวอย่างเช่น “บทความฉบับก่อนหน้านี้ ถูกนำเสนอในการประชุมประจำปีของสมาคมเอเชียศึกษา ที่เมืองโตรอนโต เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ โดยข้าพเจ้าขอขอบคุณ จูเลียน บอร์เชิร์ท (Juliane Borchert) และ ราชินี โทมัส (Rajini Thomas) สำหรับความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์”
อัตชีวประวัติ
ชีวประวัติของผู้เขียน ไม่ควรยาวเกิน ๑๕๐ คำ โดยเขียนด้วยสรรพนามบุรุษที่ ๓ และควรส่งมาพร้อมกับการส่งผลงานฉบับสมบูรณ์
เนื้อหา – รูปแบบข้อความและการจัดรูปแบบ
ทางวารสารมีแนวทางที่ครอบคลุมการจัดรูปแบบข้อความ การสะกดคำ การยกข้อความอ้างอิง และการอ้างอิง โดยคำนึงถึงรูปแบบที่เหมาะสม หากคำแนะนำในการจัดการรูปแบบข้อความด้านล่างไม่ครอบคลุม โปรดดูข้อมูลเพิ่มเติมที่คู่มือการจัดรูปแบบชิคาโก ฉบับที่ ๑๗ หรือ The Chicago Manual of Style (17th edition) เนื่องจากวารสารประตูอ้างอิงการจัดรูปแบบจากคู่มือดังกล่าวเป็นหลัก โดยมีการปรับเปลี่ยนตามหลักการเขียนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตามความเหมาะสม หากผู้เขียนพบปัญหาเกี่ยวกับการจัดการรูปแบบข้อความในชั้นตอนส่งบทความ โปรดติดต่อทีมบรรณาธิการเพื่อรับทราบแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว
การจัดรูปแบบ
ข้อความควรอยู่ในแบบอักษร (font) ที่สอดคล้องกับระบบ Unicode เช่น Cordia New เพื่อให้แน่ใจว่าวรรณยุกต์ ตัวกำกับการออกเสียง และอักษรพิเศษอื่นๆ ยังคงอยู่ โดยไม่ควรใช้แบบอักษรหลายชนิดในเอกสารเดียวกัน
ข้อความควรมีขนาด ๑๕ และมีระยะห่างระหว่างบรรทัดขนาดสองเท่า หรือ ๒.๐ ในขณะที่ข้อความในเครื่องหมายคำพูดและเชิงอรรถควรเว้นระยะห่างระหว่างบรรทัดขนาดหนึ่งเท่า หรือ ๑.๐ และไม่ควรใช้แบบอักษรหลายชนิด ไม่ควรย่อหน้าและปรับขอบกระดาษขวา และแต่ละย่อหน้าควรคั่นด้วยบรรทัดเปล่าหนึ่งบรรทัด
การใช้ตัวเอียง
การใช้ตัวเอียงเพื่อเน้นข้อความควรใช้เท่าที่จำเป็น โดยไม่ควรใช้ตัวเอียงทั้งประโยค และโปรดอย่าใช้ตัวเอียงทั้งข้อความ อย่างไรก็ตามชื่อหนังสือควรเป็นตัวเอียง ไม่ใช่ขีดเส้นใต้
การสะกดคำ
การสะกดคำให้อ้างอิงตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน โดยสามารถดูและตรวจสอบได้ที่ https://dictionary.orst.go.th/
ข้อความและคำในภาษาอื่น
ข้อความและคำในภาษาอื่นตามปกติจะใช้ตัวเอียง เว้นแต่เป็นคำที่ใช้กันแพร่หลายในภาษาไทยและปรากฏในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน โดยตัวกำกับการออกเสียง (accent) ของคำที่ไม่ใช่ภาษาไทยควรคงไว้ เช่น École, Śāstra, Žižek.
วลีหรือคำในภาษาดั้งเดิมสามารถใส่ไว้เพื่อความชัดเจน โดยควรเป็นตัวเอียงและอยู่ในวงเล็บตามหลังคำเทียบเท่าในภาษาไทย หรืออาจเขียนคำที่ไม่ใช่ภาษาไทยเป็นตัวเอียงก่อน ตามด้วยคำอธิบายศัพท์นั้นในวงเล็บ โดยไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องหมายคำพูด
หากต้องการใช้ชื่อเรื่องเดิมที่ไม่ใช่ภาษาไทยในข้อความ ควรใส่คำแปลของชื่อเรื่องในวงเล็บ ซึ่งจะถูกนับว่าเป็นชื่อเรื่อง ไม่ว่าชื่อนั้นจะเป็นชื่อแปลอย่างเป็นทางการของต้นฉบับหรือไม่ก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น:
Ang’s Les êtres surnaturels dans la religion populaire khmère (สิ่งเหนือธรรมชาติในศาสนาพื้นบ้านเขมร) ศึกษาเกี่ยวกับ….
คำภาษาสันสกฤตและภาษาบาลีจะใช้ตัวเอียงเสมอ โดยมีข้อยกเว้นคือคำนามเฉพาะ อย่างไรก็ตาม หากคำศัพท์นั้นปรากฏอยู่ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน คำนั้นไม่ต้องใช้ตัวเอียง เช่น ธรรม ธรณี หรือนิพาน การสะกดคำควรเป็นไปตาม พจนานุกรมบาลี-ไทย-อังกฤษ-สันสกฤต ที่รวบรวมโดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ
หากพบข้อสงสัยหรือปัญหาเกี่ยวกับภาษาโบราณอื่นๆ โปรดติดต่อกองบรรณาธิการเพื่อขอคำแนะนำ
ตัวอักษรที่ไม่ใช่อักษรไทยควรปรากฏในรูปแบบอักษรดั้งเดิม ประกอบกับคำทับศัพท์ภาษาไทย (transliteration) หรือคำถอดเสียงตามหลักสัทศาสตร์ (phonetic transcription) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบริบทของบทความ โดยข้อมูลในส่วนต่อไปนี้ จะให้คำแนะนำเฉพาะด้านเกี่ยวกับแบบอักษร คำศัพท์ และมาตรฐานการทับศัพท์ในแต่ละภาษาสำหรับการส่งผลงานกับวารสารประตู ซึ่งคำแนะนำสำหรับภาษาเพิ่มเติมจะถูกเพิ่มตามความจำเป็นในภายหน้า:
คำภาษาเขมร ควรปรากฏในรูปแบบอักษรเขมรและให้คำทับศัพท์ภาษาไทยหรือถอดเสียงตามหลักสัทศาสตร์ ขึ้นอยู่กับบริบทของบทความ ผู้เขียนต้องใช้แบบอักษรที่สอดคล้องกับระบบ Unicode เช่น Khmer OS Siemreap ผู้เขียนที่ใช้แบบอักษรนอกเหนือจากนี้ควรปรึกษากองบรรณาธิการล่วงหน้า ส่วนการสะกดคำภาษาเขมรควรเป็นไปตาม พจนานุกรมไทย-เขมร จัดพิมพ์โดยคณะกรรมการจัดทำพจนานุกรม ไทย-เขมร (๒๕๕๐)
คำภาษาบาฮาซาอินโดนีเซีย ควรปรากฏในรูปแบบอักษรโรมันและให้คำทับศัพท์ภาษาไทยหรือถอดเสียงตามหลักสัทศาสตร์ ขึ้นอยู่กับบริบทของบทความ ผู้เขียนต้องใช้แบบอักษรที่สอดคล้องกับระบบ Unicode เช่น Arial หรือ Calibri ส่วนการสะกดคำภาษาบาฮาซาอินโดนีเซียควรเป็นไปตาม พจนานุกรมภาษาไทย-อินโดนีเซีย โดยไซนีย์ ตำภู (บรรณาธิกรโดย ทวีศักดิ์ เผือกสม, พิษณุโลก: กองทุนสนับสนุนการวิจัย, มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และมหาวิทยาลัยมาลัง, ๒๐๑๘).
คำภาษาพม่า ควรปรากฏในรูปแบบอักษรพม่าและให้คำทับศัพท์ภาษาไทยหรือถอดเสียงตามหลักสัทศาสตร์ ขึ้นอยู่กับบริบทของบทความ ผู้เขียนควรใช้แบบอักษรพม่าที่สอดคล้องกับระบบ Unicode คือ ‘Myanmar Text’ ที่มาพร้อมกับ Microsoft Word ส่วนการสะกดคำภาษาพม่าควรเป็นไปตาม พจนานุกรมพม่า-ไทยและไทย-พม่า โดย อรนุช นิยมธรรม และวิรัช นิยมธรรม (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยมหิดล, ๒๕๓๗)
คำภาษาเวียดนาม ควรปรากฏในรูปแบบอักษรโรมันและให้คำทับศัพท์ภาษาไทยหรือถอดเสียงตามหลักสัทศาสตร์ ขึ้นอยู่กับบริบทของบทความ ผู้เขียนต้องใช้แบบอักษรที่สอดคล้องกับระบบ Unicode เช่น Arial หรือ Calibri เพื่อให้แน่ใจว่าตัวกำกับเสียงและตัวอักษรพิเศษจะยังคงอยู่ ส่วนการสะกดคำภาษาเวียดนามควรเป็นไปตาม พจนานุกรมไทย-เวียดนาม ฉบับเหงียน จิ ธง (๒๕๔๔)
คำภาษาอังกฤษ ควรปรากฏในรูปแบบอักษรโรมันและให้คำทับศัพท์ภาษาไทยหรือถอดเสียงตามหลักสัทศาสตร์ ขึ้นอยู่กับบริบทของบทความ ผู้เขียนต้องใช้แบบอักษรที่สอดคล้องกับระบบ Unicode เช่น Arial หรือ Calibri เพื่อให้แน่ใจว่าตัวกำกับเสียงและตัวอักษรพิเศษจะยังคงอยู่ ส่วนการสะกดคำภาษาอังกฤษควรเป็นไปตาม พจนานุกรมอังกฤษ-ไทย & ไทย-อังกฤษ ฉบับทันสมัย โดย บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (๒๐๐๒) และสำหรับการสะกดคำแบบสหราชอาณาจักร สามารถตรวจสอบได้จากพจนานุกรมออนไลน์โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายที่ https://dict.longdo.com/
หากแหล่งอ้างอิงหรือพจนานุกรมที่กล่าวมาด้านบนไม่มีคำที่ต้องการ ผู้เขียนสามารถไปที่ SEAlang Library สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
การยกข้อความอ้างอิง (Quotations)
สำหรับการยกข้อความอ้างอิงที่มีมากกว่า ๕๐ คำควรทำย่อหน้าพิเศษแยกในเครื่องหมายคำพูด โดยมีระยะห่างระหว่างบรรทัดขนาดหนึ่งเท่า หรือ ๑.๐ และควรหลีกเลี่ยงการยกข้อความอ้างอิงที่ยาวเกินไป
การยกข้อความอ้างอิงควรใช้เครื่องหมายอัญประกาศคู่ (“_”) โดยไม่ต้องอ้างถึงประเภทเครื่องหมายอัญประกาศที่ใช้ในต้นฉบับ เครื่องหมายอัญประกาศเดี่ยว (‘_’) ควรใช้สำหรับคำศัพท์หลัก (key terms) และคำที่ซับซ้อนหรือมีปัญหาเท่านั้น
คำที่ถูกละไว้จากการยกข้อความอ้างอิงจะแทนด้วยจุดไข่ปลา ๓ จุด โดยจะไม่ใช้ก่อนคำแรกของข้อความที่ถูกยกมาอ้างอิง แม้ว่าจะมีการละข้อความต้นประโยคของข้อความอ้างอิงก็ตาม และจะไม่ใช้หลังคำสุดท้ายของข้อความที่ถูกยกมาอ้างอิง ส่วนการใช้อักษรตัวพิมพ์ใหญ่สามารถเปลี่ยนแปลงได้หากจำเป็น
การอ้างอิง – เชิงอรรถและรายการอ้างอิง
การอ้างอิงจะอยู่ในรูปแบบเชิงอรรถแบบสั้น และรายการอ้างอิง
เชิงอรรถแบบสั้นจะประกอบด้วยชื่อผู้เขียน ชื่อเรื่องฉบับย่อ (ไม่รวมชื่อรอง) และหมายเลขหน้าหรือหมายเลขช่วงหน้า
ส่วนรายการอ้างอิงควรรวบรวมเฉพาะงานที่อ้างถึงในบทความหรือคำบรรยายภาพเท่านั้น เรียงตามลำดับอักษรชื่อผู้เขียน และจัดย่อหน้าแบบเยื้อง (hanging indent) หรือการกำหนดให้บรรทัดแรกยึดตามขอบกระดาษส่วนบรรทัดต่อมาให้จัดย่อหน้าเข้ามา และควรมีการเพิ่มรหัสทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัล หรือ DOIs (Digital Object Identifiers) สำหรับฉบับที่อ้างถึงหากเป็นไปได้ โดยสามารถระบุรหัส DOI ได้ที่ www.crossref.org และตรวจสอบได้ที่ www.doi.org
รายละเอียดด้านล่าง เป็นตัวอย่างวิธีการอ้างอิงโดยทั่วไป ทั้งในรูปแบบเชิงอรรถและรายการอ้างอิง
หนังสือ
สำหรับเชิงอรรถ:
- ศักดิ์ชัย, คู่มือนำชม ศิลปกรรมโบราณในล้านนา, ๓๔.
- ผาสุข, ทวารวดี, 78–80.
- สุเนตร, พม่าอ่านไทย, ๑๒๕–๒๘.
- เชษฐ์, ประวัติศาสตร์ศิลปะอินเดีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, ๖๒–๖๔.
สำหรับรายการอ้างอิง:
เชษฐ์ ติงสัญชลี. ประวัติศาสตร์ศิลปะอินเดีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. นนทบุรี: มิวเซียมเพรส, ๒๕๕๘.
ผาสุข อินทราวุธ. ทวารวดี: การศึกษาเชิงวิเคราะห์จากหลักฐานทางโบราณคดี. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์อักษรสมัย, 2542.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. คู่มือนำชม ศิลปกรรมโบราณในล้านนา. นนทบุรี: เมืองโบราณ, ๒๕๖๓.
สุเนตร ชุตินธรานนท์. พม่าอ่านไทย: ว่าด้วยประวัติศาสตร์และศิลปะไทยในทัศนะพม่า. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๔๒.
หนังสือที่มีบรรณาธิการ และหนังสือแปล
สำหรับเชิงอรรถ:
- ไบรอัน, โบราณคดี, 282–84.
- จอห์น, ประวัติศาสตร์ของประวัติศาสตร์, 38.
สำหรับรายการอ้างอิง:
จอห์น เอช อาร์โนลด์. ประวัติศาสตร์ของประวัติศาสตร์. แปลโดย ไชยันต์ รัชชกูล. กรุงเทพ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์กรมหาชน), 2549. ต้นฉบับตีพิมพ์ในภาษาอังกฤษชื่อ John H. Arnold, History: A Very Short Introduction (Oxford: Oxford University Press, 2000).
ไบรอัน ฟาแกน. โบราณคดี: ประวัติศาสตร์การขุดค้น อดีตกาลแห่งมวลมนุษย์. แปลโดย พจนก กาญจนจันทร. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ Bookscape, 2562. ต้นฉบับตีพิมพ์ในภาษาอังกฤษชื่อ Brian Fagan, A Little History of Archaeology (New Haven: Yale University Press, 2018).
ช่วงตอนจากหนังสือที่มีบรรณาธิการ บทความในสูจิบัตรนิทรรศการ (exhibition catalogue) และบทความตามหลังงานประชุม
สำหรับเชิงอรรถ:
- สุกัญญา, “ความตาย/ความเชื่อ/พิธีกรรม สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย,” ๒๖๑–๖๕.
- พิพัฒน์, “ยุคมืดของประวัติศาสตร์ไทย,” ๙๑.
สำหรับรายการอ้างอิง:
พิพัฒน์ กระแจะจันทร์. “ยุคมืดของประวัติศาสตร์ไทย หลังบายน พุทธเถรวาท การเข้ามาของคนไท.” ใน ยุคมืดของประวัติศาสตร์ไทย: หลังบายน พุทธเถรวาท การเข้ามาของคนไท, บรรณาธิกรโดย พิพัฒน์ กระแจะจันทร์, ๖๐–๑๐๑. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๕๙.
สุกัญญา เบาเนิด. “ความตาย/ความเชื่อ/พิธีกรรม สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย วัฒนธรรมทุ่งกุลาร้องไห้ จากหลักฐานทางโบราณคดี.” ใน ทุ่งกุลา “อาณาจักรเกลือ” ๒,๕๐๐ ปี: จากยุคแรกเริ่มล้าหลัง ถึงยุคมั่งคั่งข้าวหอม, บรรณาธิกรโดย สุจิตต์ วงษ์เทศ, ๒๔๕–๙๙. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๔๖.
บทความในวารสาร
สำหรับเชิงอรรถ:
- สฤษดิ์พงศ์, “การค้าระหว่างประเทศสมัยทวารวดี,” 21.
- เชษฐ์, “ประติมากรรมพระวิษณุจากตะกั่วป่ากับการเปลี่ยนแปลงศาสนาในอาณาจักรปัลลวะ,” ๑๓๙–๔๐.
- จีราวรรณ, “พระวิษณุจากหลักฐานโบราณคดีและประวัติศิลปะในประเทศไทย,” 82–83.
- ชะเอม, “จารึกเหรียญเงินทวารวดี,” ๕๓.
สำหรับรายการอ้างอิง:
จีราวรรณ แสงเพ็ชร์. “พระวิษณุจากหลักฐานโบราณคดีและประวัติศิลปะในประเทศไทย.” ดำรงวิชาการ 17, ฉบับที่ 1 (2561): 69–90.
ชะเอม คล้ายแก้ว. “จารึกเหรียญเงินทวารวดี หลักฐานใหม่อักษรขโรษฐี ภาษาสันสกฤต อ่าน-แปลโดย ชะเอม คล้ายแก้ว.” ศิลปากร ๓๔, ฉบับที่ ๒ (๒๕๓๔): ๕๑–๕๗.
เชษฐ์ ติงสัญชลี. “ประติมากรรมพระวิษณุจากตะกั่วป่ากับการเปลี่ยนแปลงศาสนาในอาณาจักรปัลลวะ.” วารสารเมืองโบราณ ๓๔, ฉบับที่ ๔ (๒๕๕๑): ๑๓๘–๔๗.
สฤษดิ์พงศ์ ขุนทรง. “การค้าระหว่างประเทศสมัยทวารวดี: มุมมองจากงานโบราณคดี เมืองนครปฐม.” วารสารมหาวิทยาลัยศิลปากร 34, ฉบับที่ 1 (2557): 9–29.
ภาพประกอบ
ผู้เขียนสามารถใส่ภาพประกอบบทความหรือรายงานได้ไม่เกินจำนวน ๒๐ ภาพ โดยทางวารสารขอให้ผู้เขียนใส่ภาพประกอบในจำนวนที่ไม่มากเกินไปเพื่อผู้อ่านจะได้ทำความเข้าใจได้ง่าย โดยผู้เขียนอาจใส่ภาพประกอบมากกว่า ๒๐ ภาพได้หากมีการหารือกับกองบรรณาธิการแล้ว ส่วนสื่อโสตทัศน์ (audiovisual) จะได้รับการพิจารณาเป็นกรณีพิเศษ โดยภาพและสื่อต่างๆ สามารถวางลงประกอบในบทความได้ แต่ทางกองบรรณาธิการขอให้ผู้เขียนส่งไฟล์แยกแนบมาให้เช่นกัน (ในรูปแบบไฟล์ JPEG, TIFF ฯลฯ) ซึ่งรูปภาพ แผนที่ และแผนภาพควรมีชื่อและหมายเลขกำกับ โดยผู้เขียนต้องแนบรายการคำอธิบายภาพ แผนที่ และแผนภาพในส่วนท้ายของบทความ
รูปภาพดิจิทัลควรมีความละเอียด ๓๐๐ dpi ในขณะที่ภาพแสดงตัวอย่าง (illustrations) ควรมีความละเอียด ๖๐๐ dpi โดยผู้เขียนจะต้องปรึกษากองบรรณาธิการเกี่ยวกับข้อกำหนดของภาพประกอบก่อนการส่งงานฉบับสมบูรณ์ และผู้เขียนต้องได้รับการอนุมัติสำหรับการผลิตซ้ำภาพประกอบหรือเนื้อหาอื่นที่ไม่ใช่ของตนเองก่อนส่งผลงานฉบับสมบูรณ์เช่นกัน โดยแบบจดหมายขออนุญาตสำหรับการทำสำเนารูปภาพ สามารถดูได้ที่:
คำร้องขออนุญาตในการเผยแพร่ซ้ำภาพ (Thai)
หากจำเป็นต้องแก้ไขไฟล์ภาพ วารสารประตูไม่สามารถวาดหรือเขียนตัวอักษรทับลงบนบนแผนที่หรือภาพใหม่ได้ กองบรรณาธิการจึงขอให้ผู้เขียนติดต่อเราเพื่อหารือหากต้องการแก้ไขไฟล์
การตรวจสอบงาน
บทความจะถูกส่งไปยังผู้เขียนเพื่อตรวจสอบความถูกต้องก่อนตีพิมพ์ โดยผู้เขียนไม่สามารถแก้ไขหรือเพิ่มเติมเนื้อหาได้ในขั้นตอนนี้ และหากเลยกำหนดระยะเวลาส่งคืนงาน ทางวารสารจะถือว่าผู้เขียนตกลงและยอมรับให้ใช้ฉบับแก้ไขครั้งสุดท้ายของบรรณาธิการ
การปฏิเสธความรับผิดชอบและข้อขัดแย้ง
ความคิดเห็นที่ปรากฏในวารสารประตูเป็นความคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งอาจไม่ใช่ความคิดเห็นของทีมบรรณาธิการวารสารประตู
รายการตรวจสอบสำหรับการส่งผลงาน
ผู้เขียนจะต้องทำการตรวจสอบและปฏิบัติตามรายการต่อไปนี้เพื่อส่งผลงาน ซึ่งผลงานอาจถูกส่งกลับไปยังผู้เขียนที่ไม่สามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว
- ผลงานที่ส่งต้องไม่เคยเผยแพร่ที่อื่นไม่ว่าจะในรูปแบบใด หรือกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาให้เผยแพร่กับที่อื่น (หากมีข้อสงสัย โปรดติดต่อกองบรรณาธิการ)
- ผลงานที่ส่งจะต้องอยู่ในรูปแบบไฟล์เอกสาร OpenOffice, Microsoft Word, RTF หรือ WordPerfect
- หากเป็นไปได้ ต้องมี DOI สำหรับข้อมูลอ้างอิง (หรือ URL สำหรับเอกสารอ้างอิงที่ปรากฏในรูปแบบออนไลน์เท่านั้น)
- ข้อความจะต้องมีระยะห่างระหว่างบรรทัดขนาดหนึ่งเท่า หรือ ๑.๐ โดยใช้แบบอักษรที่สอดคล้องกับระบบ Unicode ในขนาด ๑๕ และใช้ตัวเอียงแทนการขีดเส้นใต้ (ยกเว้นที่อยู่ URL) ในส่วนภาพประกอบ ภาพตัวอย่าง และตารางทั้งหมดจะต้องมีหมายเลขกำกับในข้อความตามตำแหน่งที่เหมาะสม
- ภาพประกอบ ภาพตัวอย่าง และตารางควรใส่หมายเลขกำกับ และส่งเป็นไฟล์แยกต่างหากจากบทความ
- รูปแบบข้อความที่ใช้จะเป็นไปตามข้อกำหนดด้านรูปแบบและการอ้างอิงตามที่ระบุไว้ในหลักเกณฑ์ ซึ่งสามารถดูรายละเอียดได้ข้างต้น
- แบบฟอร์มคำประกาศรับรองของผู้เขียนที่ลงชื่อแล้วจะต้องส่งแนบมาพร้อมกับบทความ โดยสามารถดาวน์โหลดเอกสารนี้ได้จากหน้า เกี่ยวกับเรา
สิทธิส่วนบุคคล
ชื่อและอีเมลจะถูกใช้เพื่อวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้ของวารสารประตูนี้เท่านั้น ทางวารสารจะไม่เปิดเผยข้อมูลเพื่อวัตถุประสงค์อื่นหรือแก่บุคคลอื่นใด
(Thai – Submissions)